เด็กและเยาวชน

เด็กและเยาวชน

การทำสมาธิ

อานาปานสติเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยควบคุมจิตให้อยู่กับความสงบ ด้วยการให้ความสนใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ซึ่งมนุษย์เรามีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ก็คือลมหายใจของเรานั่นเอง  ลมหายใจอยู่กับตัวเราตลอดเวลา หากเราเพียงแค่รับรู้ถึงลมหายใจ ในขณะที่ผ่านเข้าและผ่านออกอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จิตใจก็จะเริ่มสงบ และมีความสุขยิ่งขึ้น

บางครั้งขณะทำสมาธิ ก็จะมีสิ่งบางอย่างมารบกวนทำให้จิตใจวอกแวก และดึงความสนใจของเราออกไปจากลมหายใจ สิ่งนั้นอาจเป็นเสียง…. ความเจ็บปวด…. แต่บ่อยครั้งที่พบว่า เจ้าตัวปัญหาก็คือจิตใจที่ไม่อยู่นิ่งของเรานั่นเอง จิตใจของเรานั้นเต็มไปด้วยความคิด เรื่องโน้นบ้างเรื่องนี้บ้าง มีเรื่องราวไร้สาระต่างๆและไม่เป็นประโยชน์เกิดขึ้นในจิตใจเราอยู่เสมอ! เปรียบเหมือนลิงที่ชอบกระโดดไปที่โน่นที ที่นั่นที ยากนักที่จะควบคุมได้

 

การที่เราจะสามารถควบคุมจิตใจของตนเองได้นั้น เราจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรม ในระยะเวลาที่เพียงพอ และในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อเอื้อต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติ


การที่เรานั่งสมาธิเป็นประจำ จะช่วยสกัดความคิดที่ไม่ดีงามและความรู้สึกขุ่นเคืองไม่พอใจต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้น ด้วยการทำสมาธิดังกล่าว จะทำให้เรามีความสุขและความสงบมากขึ้นๆ

 

เหตุใดจึงต้องใช้ลมหายใจ

ลมหายใจ คือเพื่อนที่ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราเสมอ

  • ทุกคนสามารถใช้ลมหายใจได้ ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น หรือประเทศใดก็ตาม
  • ลมหายใจ คือสิ่งที่เชื่อมจิตใจ และร่างกายเข้าไว้ด้วยกัน
  • เราสามารถควบคุมลมหายใจของเราเองได้ หรือจะปล่อยให้ลมหายใจทำงานด้วยตัวของมันเองก็ได้
  • เราสามารถเรียนรู้การทำงานของจิตใจเราเองได้ เพียงแค่เราสังเกตลมหายใจของเรา
  • เมื่อจิตใจเราว้าวุ่น เราจะสังเกตได้ว่าลมหายใจของเรานั้นจะหยาบ หายใจเร็ว และแรงขึ้น
  • หากเราเฝ้าสังเกตลมหายใจของเรา จะพบว่าจิตของเรานั้นสงบขึ้นเองโดยธรรมชาติ และลมหายใจของเราจะอ่อนเบาลง

 

การนั่งสมาธิสามารถช่วยจิตใจเราได้อย่างไร

 

คำถาม และ คำตอบ

 

คำถามที่ 1 จิตคืออะไร

จิต คือส่วนที่ใช้ความคิด จิตอาจทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือสิ่งทีเป็นอันตรายก็ได้ หากจิตเก็บนิสัยที่ไม่ดีไว้ ก็จะทำให้มีแต่ความไม่สบายใจ และคิดมุ่งร้ายต่อผู้อื่น แต่หากเราพยายามที่จะฝึกฝนจิตใจของเราให้พัฒนาอยู่เสมอ จิตใจของเราก็จะเปี่ยมไปด้วยความเบิกบาน และความรัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะแผ่ให้กับทั้งตัวเราเอง และผู้อื่นด้วย

 

 

คำถามที่ 2 เราจะพัฒนาจิตใจของเราได้อย่างไร

จิตเป็นผู้ฝึกหัดจิตเอง ส่วนหนึ่งของจิตจะเฝ้าดูกลไกจิตว่ามีสิ่งใดกำลังเกิดขึ้นอยู่เสมอ และจิตจะสามารถพัฒนาจิตเองได้ หากมีการเฝ้าดูความจริง ตามอย่างที่มันเป็นอยู่ ความจริงก็จะชัดเจนว่า เมื่อใดที่ความคิด หรืออารมณ์ของเราขุ่นมัว จิตใจก็จะว้าวุ่น ยิ่งมีการสังเกตจิตมากขึ้นเท่าไหร่ การโต้ตอบของจิตก็จะยิ่งอ่อนกำลังลง จิตจะบริสุทธิ์ขึ้น และความทุกข์ก็จะถูกขจัดออกไป

 

 

คำถามที่ 3 การฏิบัติอานาปานสติสามารถช่วยได้อย่างไร

เราสังเกตลมหายใจในขณะที่มันเข้า และขณะที่มันออก โดยปราศจากความคิดอื่นใด โดยปกติแล้ว เมื่อมีความคิดที่น่าพึงพอใจล่องลอยเข้ามาในจิตของเรา ความรู้สึกชอบจะเกิดขึ้น และหากเป็นความคิดที่ไม่น่าพึงพอใจ ความรู้สึกเกลียดจะเกิดขึ้น แต่เมื่อขณะที่เราสังเกตลมหายใจ แม้จะทำเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตาม จะไม่มีความรู้สึกลบใด ๆ ที่คอยรบกวนจิตเราเลย ยิ่งกระบวนการการชำระจิตให้บริสุทธิ์ยาวนานขึ้นเท่าใด จิตของเราก็จะยิ่งสะอาดขึ้น โดยจะเริ่มจากระดับพื้นผิวก่อน นับเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นวิธีการชำระส่วนลึกของจิตให้บริสุทธิ์

 

 

คำถามที่ 4 เราจะสังเกตจิตของเราได้อย่างไร หากจิตของเรากำลังว้าวุ่น

นี่คือเหตุผลที่เราต้องมาฝึกสมาธิกัน หากจิตของเรามีสมาธิอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องฝึกสมาธิ แต่นิสัยดั้งเดิมของจิตเรานั้น มันมักจะล่องลอยไป มักมีความคิดต่าง ๆ เข้ามารบกวนจิตเราอยู่เสมอ โดยมากมักเป็นเรื่องในอดีต หรืออนาคต สิ่งสำคัญคือ เราจะรู้ตัวได้เร็วแค่ไหนว่าจิตใจของเรากำลังล่องลอยไป หน้าที่ของเราคือพาจิตของเรากลับมา และเริ่มสังเกตลมหายใจอีกครั้ง

 

 

คำถามที่ 5 ลมหายใจที่บริสุทธิ์คืออะไร

ลมหายใจที่บริสุทธิ์ คือ ลมหายใจตามปกติ ที่มีแต่เพียงลมหายใจอย่างเดียวเท่านั้น หากมีสิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การบริกรรม หรือรูปภาพต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วย ลมหายใจนั้นจะไม่ใช่ลมหายใจที่บริสุทธิ์ ในการปฏิบัติอานาปานสติ เราจะสังเกตแต่ลมหายใจที่บริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งอื่นใดปะปน

 

 

คำถามที่ 6 ลมหายใจตามธรรมชาติคืออะไร

คือ ลมหายใจที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยปราศจากความพยายามใด ๆ ไม่ว่าลมหายใจนั้นอาจจะอ่อนเบา รุนแรง ช้า หรือเร็ว เราจะไม่พยายามเปลี่ยนแปลงลมหายใจนั้น ลมหายใจตามธรรมชาติจะเข้า และออกโดยไม่เกี่ยวข้องกับความพยายามของเรา หน้าที่ของเรา คือ เฝ้าสังเกตสิ่งที่มันเป็นไปเท่านั้น

 

 

 

คำถามที่ 7 เหตุใดเราจึงต้องสังเกตแต่เพียงลมหายใจเท่านั้น

หากเราต้องการที่จะเรียนรู้ความจริงในตัวเรา การฝึกสมาธิกับลมหายใจที่บริสุทธิ์ของเราเอง โดยปราศจากสิ่งอื่นใดปะปนนั้น เราจะได้เริ่มประสบกับความจริง ลมหายใจของเรามีความเกี่ยวข้องทั้งร่างกาย และจิตใจของเรา ดังนั้น หากเราสังเกตลมหายใจ เราก็จะเริ่มรู้จักจิตใจของเราด้วย ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดความคิดเข้ามาในจิตใจของเรา จิตใจของเราก็จะโต้ตอบกับความคิดนั้น และลมหายใจของเราจะเปลี่ยนไป เมื่อเราโกรธ หรือผิดหวัง ลมหายใจจะเร็ว และแรงขึ้น เมื่อใดที่จิตใจของเราสงบลง ลมหายใจของเราก็จะกลับมาเป็นปกติ และเมื่อเราสามารถเข้าใจจิตใจของเราด้วยการสังเกตลมหายใจได้ จิตของเราก็จะเข้มแข็งขึ้น

 

 

คำถามที่ 8 จิตที่บริสุทธิ์เป็นอย่างไร

จิตที่บริสุทธิ์ คือจิตที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความปราถนาดี และความเมตตาปราณี ต่อผู้อื่น ไม่เป็นบ่อเกิดของความโกรธ ความมุ่งร้าย ความเกลียด และความโลภ ด้วยจิตที่บริสุทธิ์นี้ ความคิด และการกระทำของเราจะมีแต่สิ่งที่ดี และความปรารถนาดี ทั้งต่อตัวเราเอง และผู้อื่นด้วย

คลิกตรงนี้เพื่อสมัครเข้าอบรม